ทำไมคนไทยต้องเรียนรู้การมาของ หยวนดิจิทัล-ลิบรา

การมาของสองสกุลเงินดิจิทัล
อย่าง หยวนดิจิทัล หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า DCEP
รวมถึงการกลับมาอีกครั้งของ
ลิบรา สกุลเงินดิจิทัลของ Facebook ที่ไปปรับปรุงกฎระเบียบใหม่มาให้เข้ากับการกำกับดูแล
และตั้งเป้าจะเปิดให้ใช้งานภายในปีนี้
สองสกุลเงินดิจิทัลนี้ จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกอย่างไร คนไทยได้อะไรจากสิ่งนี้ และชีวิตเราจะเปลี่ยนไปอย่างไร?
ไม่ช้าก็เร็วคนไทยมีสิทธิได้ใช้สองสกุลเงินดิจิทัลนี้
ด้วยจำนวนผู้ที่อยู่ในแพลตฟอร์มของ
Facebook รวมทั้ง Whatapps และ
Instagram รวมกัน 3,300 ล้านคนทั่วโลก
(หนึ่งในนั้นย่อมมีเราอยู่ด้วย) เมื่อไรที่
Facebook เปิดให้ใช้งานสกุลเงินลิบรา แม้จะมีผู้เริ่มต้นเพียงแค่
1% แต่นั่นก็หมายถึงจำนวนผู้ใช้กว่า 33 ล้านคน
เท่ากับครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรไทยแล้ว
แม้ขั้นตอนการใช้อาจจะยุ่งยากขึ้น
เพราะการที่จะใช้เงินบาทกับสกุลเงินลิบราตามระเบียบใหม่ที่นำเสนอออกมา จะต้องขออนุญาตเข้ามาที่สมาคมลิบรา
และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกฎหมายทางการเงินของประเทศนั้นๆ
แต่นั่นนำมาซึ่งความน่าเชื่อถือและความมั่นใจในการใช้เงินลิบราที่มากขึ้น
ทำให้อาจมีสถาบันการเงิน รวมถึงแพลตฟอร์มทางด้านดิจิทัลในประเทศไทยบางแห่ง นำสกุลเงินลิบราเข้ามาใช้งาน
ขณะที่คนจีนถือเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ที่เข้ามายังประเทศไทยต่อปีในอัตราที่สูง
และเริ่มเห็นสัญญาณของการกลับมาอีกครั้งหลังวิกฤติโควิด-19 เมื่อใดที่จีนเปิดให้ใช้เงินหยวนดิจิทัลแล้ว
อาจมีบางส่วนที่นำเข้ามาใช้ในประเทศไทยด้วย
การที่จีนเปิดทดลองใช้หยวนดิจิทัลกับเชนร้านอาหารระดับสากลอย่างสตาร์บัคส์ และแมคโดนัลด์ คือการส่งสัญญาณอย่างหนึ่งว่า จีนต้องการให้สกุลเงินดังกล่าวถูกใช้ในระดับสากล ไม่ใช่เพียงแค่ภายในประเทศ
โอกาสทางการค้าขายแบบไร้พรมแดน
ปัจจุบัน คนไทยมีการใช้แพลตฟอร์มของ Facebook ในการทำธุรกิจเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะการขายของทางออนไลน์ จะเห็นได้ว่า
Facebook ได้มีการพัฒนาฟีเจอร์ที่สนับสนุนให้การค้าขายบนแฟนเพจทำได้สะดวกขึ้น
รวมถึงระบบการชำระเงินที่ปัจจุบันยังพึ่งพาระบบการเงินเดิม
แต่หากมี ลิบรา เกิดขึ้น
ต้นทุนการชำระเงินจะลดลงอย่างมาก หรืออาจจะไม่มีเลย ต่างจากปัจจุบันที่หากมีการชำระเงินข้ามประเทศหรือต่างสกุลเงินจะเสียค่าธรรมเนียม
นี่คือโอกาสในการที่คนไทยจะผลิตสินค้าหรือบริการ ที่สามารถขายให้กับคนทั้งโลกได้ เพราะอุปสรรคทางการชำระเงินที่หายไป
ขณะที่ หยวนดิจิทัล
น่าจะเป็นเครื่องมือในการขยายฐานผู้ใช้งานเงินหยวนให้กระจายออกไปนอกประเทศจีน ด้วยคุณสมบัติของการเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ใช้งานได้อย่างไร้พรมแดน
ชาวต่างชาติรวมถึงคนไทยมีโอกาสที่จะเข้าถึงได้ง่ายขึ้นกว่าระบบเก่า ซึ่งจีนค่อนข้างที่จะควบคุมการไหลออกของเงินหยวน
หากจีนเลือกที่จะใช้ หยวนดิจิทัล ในการเป็นสื่อกลางค้าขายกับชาวต่างชาติตามยุทธศาสตร์ One Belt One Road นี่คือโอกาสของคนไทยที่จะได้ค้าขายกับชาวจีน ประเทศที่คาดว่าจะสามารถฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้เร็วที่สุดหลังวิกฤติโควิด-19 ด้วยสกุลเงินใหม่นี้
สกุลเงินดิจิทัลคือหนึ่งใน New Normal หลังวิกฤติโควิด-19
การเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิด New Normal อย่าง Social
Distancing และ Work From Home ทำให้เกิดการทำธุรกรรมบนโลกออนไลน์มากขึ้น
รวมไปถึงการชำระเงินด้วยเช่นกัน พฤติกรรมของผู้ใช้งานจะเปลี่ยนไปหลังพบว่าการทำธุรกรรมบนออนไลน์มีความปลอดภัย
สะดวก รวดเร็ว และค่าธรรมเนียมต่ำ เป็นไปได้สูงกว่าสังคมไร้เงินสด
(Cashless Society) จะถูกเร่งให้เกิดเร็วขึ้น
เงินดิจิทัลไม่ว่าจะเป็นบิทคอยน์ รวมถึงหยวนดิจิทัลและลิบรา จะเป็นกลไกสำสำคัญของสังคมไร้เงินสดที่จะเกิดขึ้นอย่างเต็มตัวในไม่ช้านี้อย่างแน่นอน
ประเทศไทยก็กำลังจะมีเงินดิจิทัลของตัวเอง
ธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังพัฒนาเทคโนโลยีการเงินภายใต้โปรเจ็กต์ “อินทนนท์”
โดยใช้เทคโนโลยี DLT มาใช้ในการโอนเงินรวมถึงธุรกรรมระหว่างธนาคาร
(Inter Bank) แม้จะยังไม่ถือว่าเป็นสกุลเงินดิจิทัลอย่างเต็มตัวหรือคนไทยทั่วไปได้ใช้งาน
แต่เมื่อแพลตฟอร์มดังกล่าวเสร็จสิ้น
ประเทศไทยจะมีโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการมาของสกุลเงินดิจิทัลของเงินบาทได้ ซึ่งอนาคตประเทศไทยอาจจะพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางหรือ
CBDC เป็นของตัวเองเช่นเดียวกับธนาคารกลางอื่นๆ ที่เริ่มต้นพัฒนาไปแล้วอย่างเช่น
ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ เอสโตเนีย เกาหลีใต้
มีคำกล่าวจากองค์กรด้านการเงินระดับโลกอย่าง
IMF ที่ออกมาบอกว่า หากธนาคารกลางใดไม่พัฒนา CBDC เป็นของตัวเองก็อาจจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงเงินดิจิทัลที่กำลังเป็นกระแสหลักของโลก
โลกการเงินหลังโควิด-19
จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างชนิดที่เราจินตนาการตามไม่ถึง และเทคโนโลยีใหม่ๆ
นั้น จะไม่ไกลตัวคนไทยอีกต่อไป อยู่ที่ว่าเราจะเกาะไปตามกระแสนั้น หรือจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง