สูตรสำเร็จ ธุรกิจครอบครัวก่อสร้างไทย

โอกาสที่สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยครบรอบ 90 ปี ในการจัดตั้งโดยมีการเสวนาในหัวข้อ "Future Construction 2019 - Built to Last" ผมได้มีโอกาสไปบรรยายในหัวข้อ "ทำไมธุรกิจก่อสร้างไทยส่งผ่านสามรุ่นยาก:
กรณีศึกษา"
จึงอยากจะนำสิ่งที่บรรยายมาสรุปให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบกัน
ความจริงแล้วธุรกิจครอบครัวที่มีอายุยืนยาวที่สุดในโลกก็คือธุรกิจก่อสร้างของประเทศญี่ปุ่น
คือบริษัทคอนโกกุมิ ซึ่งมีอายุยาวถึง 1,428 ปี โดยได้เริ่มก่อตั้งเมื่อค.ศ.
578 เพื่อสร้างวัดพุทธและระฆังต่อมาได้ขยายกิจการและเจอวิกฤต จนกระทั่งถึงปี 2006 ได้ถูกซื้อโดยบริษัททากามาสสึ บริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่และในที่สุดก็ล้มละลายไป แล้วการที่บริษัทก่อสร้างมีอายุถึง 1,428 ปีก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจเพราะธุรกิจครอบครัวคอนโกกุมินี้ มีการสืบทอดธุรกิจครอบครัวมาถึง
40 รุ่น ทั้งนี้โดยพิจารณาจากความสามารถและความเหมาะสม ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นทายาทโดยตรงหรือหญิงหรือชาย
และถ้าหากไม่ได้การยอมรับก็จะเลือกเขยหรือสะใภ้เข้ามาทำงาน โดยจะต้องเปลี่ยนนามสกุลตามครอบครัวเท่านั้น
ตรงกันข้ามมีข้อมูลที่น่าสนใจจากการศึกษาบริษัทธุรกิจครอบครัวก่อสร้างในสหรัฐอเมริกาว่า
ทำไมธุรกิจครอบครัวซึ่งทำธุรกิจก่อสร้างหรือเกี่ยวกับวัสดุก่อสร้างจึงมีอัตราอยู่รอดที่น้อยที่สุด
โดยทำการสำรวจจากปีค.ศ.2004-2016 พบว่าบริษัทธุรกิจครอบครัวก่อสร้างในสหรัฐอเมริกาโดยรวมผู้ขายสินค้าและผู้รับเหมาล้มหายตายจากไปเฉลี่ยปีละ
20-29.3% ความล้มเหลวหรือความพ่ายแพ้อาจจะเกิดจากเหตุการณ์หลายเรื่องเช่น
1.ไม่สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าของเทคโนโลยี
โดยเฉพาะเทคโนโลยีก่อสร้างใหม่ๆอย่างการใช้โดรน ปัญญาประดิษฐ์ และ BIM หรือ Building Information Modeling กำลังเปลี่ยนโฉมหน้าวงการก่อสร้าง
2.ขยายธุรกิจครอบครัวเร็วเกินไปทั้งที่ยังขาดความพร้อมรับงานมากเกินไปรับงานใหญ่เกินไป
และขยายธุรกิจไปยังพื้นที่ที่ขาดความชำนาญ ซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยการวางแผนแต่ละขั้นตอนอย่างรอบคอบ
ค่อยเป็นค่อยไป ไม่ขยายธุรกิจแบบก้าวกระโดดจนเกินกำลัง
3.เลือกรับโครงการที่ไม่สร้างผลกำไรและล้มเหลวในการบริหารจัดการโครงการ
ทางออกของปัญหานี้คือการพิจารณารับงานแต่ละโครงการอย่างเหมาะสม
การวางแผนบริหารจัดการโครงการที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้สามารถส่งมอบงานได้ตามเวลา
และสร้างผลกำไรแก่ธุรกิจ
4.ไม่สามารถระดับรักษาระดับต้นทุนที่เหมาะสมและลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเกินความจำเป็นทำให้ขาดสภาพคล่อง
และขาดการวางแผนทางธุรกิจ แก้ไขได้ด้วยการบริหารจัดการต้นทุนอย่างเป็นระบบ
การสำรองเงินสำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉิน และใช้ทรัพยากรที่มีอย่างเต็มกำลัง
5.เป้าหมายไม่ชัดเจน
การประกอบธุรกิจทุกประเภทจะต้องมีการกำหนดเป้าหมายทั้งในระยะสั้น
และระยะยาวที่ชัดเจน และสามารถบรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ อีกทั้งจะต้องสื่อสารเป้าหมายของธุรกิจแก่พนักงาน
และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคน
6.อัตราการลาออกสูงแรงงานขาดความชำนาญ
แรงงานที่มีประสิทธิภาพถือเป็นหัวใจของธุรกิจก่อสร้าง
การจัดหาแรงงานที่มีความชำนาญ
และมีความเหมาะสมกับงานเป็นสิ่งที่จะต้องตระหนักถึงเป็นอันดับแรกๆ
การอบรมและให้ความรู้ระหว่างการทำงาน และการให้ผลตอบแทนที่เป็นธรรม คือวิธีแก้ไขปัญหาที่ต้องปฏิบัติ
7.ขาดการวางแผนสืบทอดธุรกิจการวางแผนสืบทอดธุรกิจที่เหมาะสมจะทำให้ธุรกิจอยู่ได้ยืนยาว มีคำแนะนำว่า
ผู้ประกอบการในรุ่นปัจจุบันควรให้ความสำคัญกับคัดเลือกผู้สืบทอด
และการวางแผนล่วงหน้าจะช่วยลดความเสี่ยงในกรณีที่เกิดเหตุไม่คาดฝัน
และป้องกันไม่ให้ธุรกิจล่มสลายเนื่องจากขาดผู้สืบทอดธุรกิจ ซึ่งธุรกิจครอบครัวก่อสร้างไทยต้องให้ความสนใจ
สำหรับประเทศไทยจากการวิจัยของธนาคารไทยพาณิชย์
และธนาคารกสิกรไทยความท้าทายของธุรกิจครอบครัวไทยที่ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้างนั้นมีสิ่งที่จะต้องเผชิญมีดังต่อไปนี้
1.ความต้องการจ้างแรงงานเพิ่มสูงขึ้นอัตราค่าจ้างสูงขึ้น
2.ทักษะแรงงานไม่สอดคล้องกับทางการตลาด
3.ผู้รับเหมาต่างชาติเข้าร่วมประมูลโครงการใหญ่ ๆ ตัดราคาทำให้ผู้รับเหมาไทยไม่สามารถแข่งขันได้
4.ขาดแหล่งเงินทุนหมุนเวียนของผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก
5.การปรับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างและพัสดุภาครัฐรวมทั้งระบบวินัยการเงินการคลังภาครัฐ
6.มาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารแห่งประเทศไทย
และถ้าหากมาดูธุรกิจครอบครัวในประเทศไทยที่ประกอบธุรกิจก่อสร้างโดยพิจารณาจากบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้นมี
43 บริษัท คิดเป็นร้อยละ 6 ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดโดยเป็นบริษัทธุรกิจวัสดุก่อสร้าง
21 บริษัท และบริษัทรับเหมาก่อสร้าง 22 บริษัท
ซึ่งถ้าหากดูอัตราเฉลี่ยของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างไทยซึ่งอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ก็จะพบว่า
ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างโดยเฉลี่ยจะมีอายุเป็นรุ่นที่สองคือมีเฉลี่ยอายุประมาณ 55 ถึง 60 ปี บริษัทที่มีอายุยาวที่สุดคือบริษัทคริสเตียนีและนีลเส็น
ซึ่งได้ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2473 และในปัจจุบันผู้ถือหุ้นใหญ่สุดของบริษัท
คือบริษัท โกลเบ๊กซ์คอร์ปอเรชั่น ของมหาเศรษฐีตระกูลชาห์ นอกจากนั้นแล้วเฉลี่ยอายุของธุรกิจครอบครัวไทยทั้งที่อยู่ในตลาดและไม่อยู่ในตลาดก็เฉลี่ยต่ำสุดคือ
24 ปีและสูงสุดคือ 89 ปี
คำถามที่ท้าทายก็คือว่าธุรกิจรับเหมาก่อสร้างของไทยส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงของรุ่นที่สองกำลังจะส่งมอบต่อรุ่นที่สาม
และข้อมูลที่บอกว่ารุ่นที่สามมีโอกาสสำเร็จเพียง12% นั้นจะทำอย่างไรให้สามารถอยู่รอดได้
ถ้าหากท่านได้ติดตามหนังสือสูตรสำเร็จธุรกิจครอบครัวไทย
ผมมีสูตรสำเร็จธุรกิจ 6C ที่อยากจะนำมาปรับใช้กับธุรกิจครอบครัวก่อสร้างไทยดังนี้
C ตัวที่1 คือการจัดโครงสร้างของบริษัทธุรกิจครอบครัว ซึ่งธุรกิจครอบครัวไทยนั้นไม่ได้นิยมให้มีการจัดโครงสร้างบริษัทโฮลดิ้งของครอบครัวหรือกงสีของครอบครัว
หรือการเตรียมการจัดโครงสร้างโฮลดิ้งเพื่อเข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ตามลักษณะของบริษัทที่ประกอบการ
หรือการจัดโครงสร้างเพื่อรองรับการร่วมลงทุน (Joint Venture) หรือการควบรวมกิจการ (Mergers and Acquisitions)
โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทก่อสร้างที่มีขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งมีความชำนาญในแต่ละด้านแตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นงานออกแบบและก่อสร้างภาครัฐ
ภาคเอกชน งานวางระบบพื้นฐานและสาธารณูปโภค รวมทั้งบริษัทที่ผลิตหรือจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง
กลุ่มบริษัทเหล่านี้สามารถมารวมตัวกันเพื่อจัดตั้งเป็นบริษัทโฮลดิ้ง โดยนำยอดรายได้ต่างๆมารวมกันและยังเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในระบบการจัดซื้อจัดจ้างได้อีกด้วย รูปแบบการจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งของกลุ่มบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กนั้นจะทำให้เกิดความเข้มแข็ง โดยเจ้าของซึ่งเป็นเจ้าของสิทธิ์ครอบครัวก็ยังคงถือหุ้นในบริษัทประกอบการต่อไปได้ โปรดดูแผนภูมิข้างล่างที่ผมจะนำเสนอ ให้พิจารณาดังนี้
จากแผนภูมิข้างต้นนั้นเป็นสิ่งที่ธุรกิจครอบครัวจะต้องเปลี่ยนวิธีการว่าจะหาพันธมิตรกลุ่มบริษัทที่จะมาร่วมกันขยายกิจการได้หรือไม่
การตีมูลค่าของแต่ละบริษัทอย่างไรหลักการก็คือว่าถ้าบริษัทต่าง ๆ นั้นมีการทำบัญชีครบถ้วนถูกต้องการเสียภาษีถูกต้อง
การตีมูลค่าของธุรกิจก็จะไม่เป็นการยากแต่อย่างใด ซึ่งผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นความท้าทายอย่างยิ่ง
และผมเชื่อว่าจะทำให้ธุรกิจก่อสร้างในประเทศไทยมีความเข้มแข็งและสู้กับบริษัทต่างชาติได้ การร่วมลงทุน การเข้าตลาดหลักทรัพย์ และการทำ M&A เป็นทางเลือกหนึ่งที่ดีต้องพิจารณา
C ตัวที่ 2 คือ
กำหนดค่าตอบแทนให้สมาชิกในครอบครัวที่บริหารจัดการให้เป็นธรรมและเหมาะสม และการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ทายาทหรือสมาชิกในครอบครัวที่มีความสามารถเข้ามาสืบทอดธุรกิจ
C ตัวที่ 3 คือ จัดกระบวนการสื่อสารของสมาชิกในครอบครัวและผู้บริหารอย่างสม่ำเสมอ
และเปิดเผย
C ตัวที่ 4 คือ จัดหากระบวนการซื้อขายหุ้นระหว่างกันของสมาชิกในครอบครัวกรณีจำเป็นจริง
C ตัวที่ 5 คือ
สร้างความรักความผูกพันให้สมาชิกในครอบครัวและรับผิดชอบต่อสังคมและผู้เกี่ยวข้อง
C ตัวที่ 6 คือ เตรียมรับความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจโดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีหรือดิจิทัลและกฎหมายให้พร้อม
สูตรสำเร็จ 6C ก็จะรวมถึงการวางแผนผู้สืบทอดธุรกิจครอบครัวของธุรกิจไทยไว้ด้วย
ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างกระบวนการเลือกผู้สืบทอดธุรกิจที่มีความรู้ความชำนาญและมีใจรักในการสืบทอดธุรกิจ
ที่สำคัญก็คือการวางแผนการเงินและวิสัยทัศน์ของบริษัท
ผมมีความเชื่อว่าธุรกิจก่อสร้างของไทยที่มีอายุยาวนานเช่นสมาคมมาถึง
90 ปี ฉะนั้นการที่บริษัทก่อสร้างไทยจะสืบทอดได้เป็น
100 ปี ย่อมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ถ้าหากเจ้าของธุรกิจก่อสร้างไทยยอมรับความเปลี่ยนแปลง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง
การเตรียมตัวเพื่อรับความเปลี่ยนแปลงหรือการเปลี่ยนแปลงวิธีการคิดและทำงานของเจ้าของธุรกิจจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด