จัดพอร์ตลงทุนอย่างไร? ท่ามกลางความผันผวน

ดอกเบี้ยต่ำถือเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับการลงทุนระยะยาว แม้ว่าสินทรัพย์เสี่ยงความผันผวนจะสูงขึ้น หรือมีมูลค่าที่ค่อนข้างแพงแล้ว แต่ถ้าเปรียบเทียบกับภาวะดอกเบี้ยต่ำเช่นนี้แล้ว สินทรัพย์เสี่ยงก็อาจจะไม่ได้ดูแพงเกินไปนัก
ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563
ถือเป็นช่วงเวลาที่ควรค่าแก่การจารึกลงในประวัติศาสตร์
การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้เปลี่ยนหลายสิ่งหลายอย่างไปมาก
ไม่ว่าจะเป็นวิถีการใช้ชีวิต แนวทางการทำงาน การจับจ่ายใช้สอยของผู้คน ตลอดไปจนถึง
การดำเนินนโยบายในสถานการณ์วิกฤติที่เกิดขึ้น มาตรการใหม่ๆ
ถูกนำมาใช้เพื่อรับมือกับวิกฤติครั้งนี้
ตลาดการลงทุนในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ก็มีความผันผวนในระดับที่สูงมากด้วย
หากดูจาก VIX Index ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความผันผวนของตลาดหุ้นสหรัฐฯ
จะเห็นว่า
ความผันผวนที่มากที่สุดในรอบนี้สูงสุดกว่าเมื่อครั้งวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2551
เสียด้วยซ้ำ ตลาดหุ้นไทยเองก็ผันผวนไม่แพ้กัน เราเห็น SET Index ปรับตัวลดลงจากระดับประมาณ
1,600 จุด มาเหลือเพียงประมาณ 1,000 จุด
ก่อนที่จะฟื้นตัวมาเคลื่อนไหวที่ระดับเหนือ 1,300 จุด ในปัจจุบัน
ท่ามกลางความผันผวนเช่นนี้ หากใครจับจังหวะถูก
ก็อาจจะได้รับผลตอบแทนที่น่าพอใจเลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม ในทางตรงกันข้าม
หากใครจับจังหวะผิดก็จะรับผลตอบแทนที่น่าผิดหวังทีเดียว
สถานการณ์ช่วงที่เหลือของปี
ต่อเนื่องถึงปีหน้าจะเป็นอย่างไร?
แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจทั้งปี 2563 นี้จะย่ำแย่
และอาจจะแย่ที่สุดตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เลยทีเดียว
แต่จุดที่แย่ที่สุดน่าจะเกิดขึ้นในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ซึ่งกลายเป็นอดีตไปแล้ว
เศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีนั้นน่าจะเติบโตขึ้นกว่าในช่วงไตรมาส 2
ทำให้ภาวะวิกฤติที่เกิดในครั้งนี้อาจเป็นครั้งที่ส่งกระทบรุนแรงมากที่สุด
แต่ก็อาจมีระยะเวลาที่สั้นที่สุดด้วยก็ได้
อย่างไรก็ตาม
ประเด็นที่ต้องติดตามหลังจากนี้จะเป็นเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจว่าจะรวดเร็วเพียงใด
แม้ว่าเราหวังจะให้เศรษฐกิจฟื้นกลับมาในระดับปกติโดยเร็ววัน
แต่หากมองด้วยปัจจัยต่างๆ แล้ว
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากนี้ไปน่าจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปเสียมากกว่า
เครื่องยนต์ที่เคยเป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจได้มากในช่วงที่ผ่านมาคือ
ภาคการท่องเที่ยวนั้น เรียกว่า “ดับสนิท” การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวอย่างเป็นรูปธรรมนั้น
อาจต้องรอให้มีการคิดค้นพัฒนาวัคซีนได้สำเร็จและมีการผลิตแจกจ่ายในวงกว้างเสียก่อน
กว่าที่จะเรียกความมั่นใจกลับมาได้
ท่ามกลางความย่ำแย่นี้ มาตรการช่วยเหลือต่างๆ
ก็ถูกนำมาใช้ในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน การจ่ายเงินเยียวยาให้กับประชาชนโดยตรง
การเพิ่มผลประโยชน์ประกันการว่างงาน
การจ่ายเงินสนับสนุนให้บริษัทยังคงจ้างแรงงานต่อไป
หรือมาตรการด้านการเงินที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยต่างๆ
เช่น การพักชำระหนี้ การเข้าซื้อตราสารหนี้เอกชน เป็นต้น ความเต็มใจ (Willingness) ของผู้ออกนโยบายในการช่วยเหลือในครั้งนี้
ทำให้ความรุนแรงของวิกฤติในครั้งนี้เบาบางลงได้บ้าง
และเป็นปัจจจัยสำคัญที่ช่วยเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาให้กับตลาด
แม้ว่าแนวโน้มในอนาคตน่าจะค่อยๆ ดีขึ้น
แต่วิกฤติครั้งนี้อาจฝาก “รอยแผลเป็น” ขนาดใหญ่ไว้ให้เราในอนาคต
การก่อหนี้ที่เพิ่มขึ้นและรายได้ที่ลดลง ทั้งในระดับประเทศ ระดับบริษัทเอกชน
หรือระดับครัวเรือน ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ดูลดต่ำลง
จนทำให้ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ดูจะสูงขึ้น
ซึ่งอาจเป็นประเด็นบั่นทอนความเชื่อมั่น การเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี)
และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในอนาคตได้
นับเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องคอยติดตามว่าปัญหาดังกล่าวจะรุนแรงเพียงใด
หรือหน่วยงานทางการจะมีมาตรการแก้ไขปัญหานี้อย่างไรด้วย
ควรจัดพอร์ตการลงทุนอย่างไร?
หากมองภาพระยะยาวแล้ว
พอร์ตการลงทุนนั้นให้ทั้งผลตอบแทนและความเสี่ยง ทั้งสองเป็นสิ่งคู่กัน ผลตอบแทนสูง
ความเสี่ยงก็ต้องสูงตามไปด้วย ฉะนั้น เมื่อตลาดมีความผันผวนสูงขึ้น
สินทรัพย์เสี่ยงก็จำเป็นต้องให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นตามไปด้วย
เพื่อช่วยชดเชยความผันผวนที่สูงขึ้น
แต่หากมองจากนี้ไปในระยะ 1 ปีข้างหน้า
แม้ว่าหลายฝ่ายจะมองว่าเศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวขึ้นหากการพัฒนาวัคซีนเป็นที่สำเร็จ
แต่ตลาดก็อาจจะ “รับข่าว” ไปค่อนข้างมากแล้ว
อีกทั้ง ประเด็นที่ทำให้หลายคนกังวลในการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยง คือเรื่องของความ “แพง” ของตลาดหุ้น
เมื่อมองเชิงของสัดส่วนราคาปิดต่อกำไร (พี/อี เรโช) ในปัจจุบัน
ต้องบอกว่าตลาดหุ้นนั้น “แพงมาก” และเป็นเช่นนี้ทั่วโลกทุดตลาดกันเลยทีเดียว
ตลาดหุ้นไทยก็มีพี/อี ประมาณ 18 เท่า (มองระยะ
12 เดือนข้างหน้า) ทั้งที่ค่าเฉลี่ยในอดีตอยู่ที่ประมาณ 13 เท่า หรือในช่วง 4-5
ปีก่อนหน้านี้จะอยู่ที่ประมาณ 14-15 เท่า เท่านั้นเอง
ครั้นจะหลบไปลงทุนสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างพันธบัตรรัฐบาล
นักลงทุนก็จะเผชิญกับความท้าทายอีกด้านหนึ่งจากระดับดอกเบี้ยที่ต่ำในปัจจุบัน
เดิมในปีก่อนดอกเบี้ยก็ถือว่าค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว
แถมวิกฤติที่เกิดขึ้นยังผลักดันให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ต้องปรับลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
ทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลในช่วงจากนี้ไปน่าจะต่ำลงไปอีก
อย่าลืม! วัดระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
สำหรับการจัดพอร์ตรับมือสถานการณ์เช่นนี้
อย่างแรกที่นักลงทุนจำเป็นต้องตัดสินใจคือ ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ผู้ที่รับความเสี่ยงได้มากอาจถือครองสินทรัพย์เสี่ยงในสัดส่วนที่สูงกว่า
การปรับตัวของมูลค่าพอร์ตการลงทุนของท่านในช่วงที่ผ่านมาอาจเป็นตัวชี้วัดได้ว่าพอร์ตที่มีความเสี่ยงในระดับดังกล่าวเหมาะสมกับท่านหรือไม่
แน่นอนว่า คงไม่มีใครชอบให้ผลตอบแทนติดลบ
แต่หากเป็นเช่นนั้นแล้วท่านเกิดอาการ กินไม่อิ่ม นอนไม่หลับ
ก็อาจจะหมายความว่าพอร์ตการลงทุนของท่านรับความเสี่ยงมากเกินไป
จึงอาจจะต้องหาโอกาสในการปรับพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่รับได้
และความจำเป็นในการในเงินนั้นในอนาคตได้
เมื่อทราบถึงระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมกับตนเองแล้ว
เรามีมุมมองว่า นักลงทุนระยะยาวยังไม่ควรปรับลดน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง (Allocation) ลงในช่วงนี้
ดอกเบี้ยต่ำ คือความท้าทาย
ภาพดอกเบี้ยที่ต่ำถือเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับการลงทุนระยะยาว
แม้ว่าสินทรัพย์ความผันผวนจะสูงขึ้นหรือมีมูลค่าที่ค่อนข้าง “แพง” แล้ว
แต่ถ้าหากเปรียบเทียบกับภาวะดอกเบี้ยต่ำเช่นนี้แล้ว
สินทรัพย์เสี่ยงก็อาจจะไม่ได้ดู “แพง” เกินไปนัก
สัดส่วน Earning Yield
Gap ที่ประมาณ 4.5% ก็อาจจะดูต่ำกว่า
(หุ้นแพงกว่าบอนด์) ค่าเฉลี่ยในอดีตที่ประมาณ 5% เพียงเล็กน้อย
ทั้งนี้ แม้ว่าหุ้นทั้งตลาดอาจจะมีโอกาสปรับขึ้นไม่มาก
แต่หากพิจารณาเป็นรายตลาดหรือรายอุตสาหกรรมจะเห็นว่าผลตอบแทนในช่วงที่ผ่านมามีความแตกต่างกันอยู่พอสมควร
การเลือกหลักทรัพย์หรือกองทุนเข้ามาอยู่ในพอร์ต (Picking) จึงมีความสำคัญค่อนข้างมากในการสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุน
ดังจะเห็นได้ว่า กองทุนหุ้นที่มีการบริหารแบบ “เชิงรุก” หลายกองทุนจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่ากองทุนในลักษณะ”เชิงรับ”ในปีนี้
โดยเฉพาะในส่วนของกองทุนมีนโยบายเน้นการลงทุนในหุ้นกลุ่มขนาดกลางและเล็ก (Mid-small cap) ที่สามารถให้ผลตอบแทนเป็นบวกได้ในปีนี้
ทั้งที่ผลตอบแทนโดยรวมของตลาดยังติดลบกว่า 10%
กลยุทธ์ลงทุนตามกระแส”เมกะเทรนด์”
ทั้งนี้ บลจ.กรุงไทย มองว่า
การลงทุนตามกระแสการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโลกนี้ (Megatrends) ยังเป็นกลยุทธ์ที่ดีสำหรับการลงทุนในช่วงถัดไป
วิกฤติที่เกิดขึ้นทำให้ผู้คนถูก “บังคับ” ให้รับเอาเทคโนโลยีมาใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น
ส่งผลดีต่อหุ้นในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี
ซึ่งน่าจะหมายถึงหุ้นต่างประเทศมากกว่าหุ้นในไทย
การแพร่ระบาดของไวรัส
ทำให้คนหันมาให้ความสนใจกับสุขภาพมากขึ้น
ก็จะส่งผลดีต่อหุ้นในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพหรือโภชนาการมากขึ้น
อีกทั้ง สภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ชัดในช่วงที่มนุษยชาติ “ปิดดำเนินการชั่วคราว” เพื่อรับมือกับไวรัสนั้น
อาจช่วยปลุกกระแสรักษ์โลกให้ถาโถมกลับมาได้อีกครั้ง
ซึ่งจะส่งผลดีต่อกระแสการลงทุนแบบ ESG
ด้วย
นอกจากนี้ ความผันผวนที่เกิดขึ้นในตลาดก็สร้างโอกาสในการลงทุนได้ด้วย กลยุทธ์ทยอยการลงทุนโดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดปรับตัวลดลงแรง ก็อาจจะสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มให้กับพอร์ตได้เช่นกันครับ
โดย ดร.สมชัย อมรธรรม
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ
ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์
บลจ.กรุงไทย