Exclusive Interview : สาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย

สาระ
ล่ำซำ
นายกสมาคมประกันชีวิตไทย
ขานรับภารกิจท้าทายท่ามกลางวิกฤติ
“สมาคมประกันชีวิตไทยในทุกยุค ก็มีความร่วมมือกันด้วยดีมาตลอดแม้ในทางธุรกิจแต่ละบริษัทต่างก็ต้องแข่งขันกัน แต่ในมุมของความร่วมมือสมาคม ได้ทำหน้าที่ในการเป็นศูนย์กลางระหว่างบริษัทสมาชิกที่ดีมาโดยตลอด และพร้อมรับความท้าทายอีกครั้งท่ามกลางวิกฤติโควิดที่เกิดขึ้น”
“จากนี้ไป
สมาคมจะให้ความสำคัญกับการสร้าง Redar สำหรับบำนาญที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญเช่นเดียวกับเรื่องของประกันสุขภาพ
โดยพยายามสร้างการกระตุ้นและแรงจูงใจเพื่อดึงดูดให้ทุกคนก้าวเข้ามาสู่ระบบการออมการวางแผนทางการเงินเพื่อการเกษียณให้มากขึ้น”
ท่ามกลางความท้าทายจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19
สมาคมประกันชีวิตไทยได้มีการเลือกตั้งนายกสมาคมประกันชีวิตไทยคนใหม่เพื่อมารับไม้ต่อ
นุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ ที่หมดวาระหลังจากรับหน้าที่ติดต่อกันมา 2 วาระแล้ว
โดยบริษัทสมาชิกมีมติให้ สาระ ล่ำซำ ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมประกันชีวิตไทย ซึ่งถือเป็นการรับตำแหน่งสมัยที่
5
หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยได้รับความไว้วางใจจากบริษัทสมาชิกให้ดำรงตำแหน่งนี้มาแล้วถึง
4 สมัย
โดยมีภารกิจเพื่อช่วยผลักดันสานต่องานด้านต่างของธุรกิจประกันชีวิตให้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563-30 มิถุนายน 2565 ท่ามกลางความท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน
ไม่มีความแน่นอน และสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19
ภารกิจท้าทายที่ต้องสู้
สาระ
ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย ให้สัมภาษณ์พิเศษ การเงินธนาคาร ว่า
สำหรับบทบาทของสมาคมประกันชีวิตไทยตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน คือ องค์กรที่เป็นศูนย์กลางของธุรกิจประกันชีวิตโดยมีเป้าหมายในการผลักดันให้ธุรกิจประกันชีวิตมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
มีความพร้อมในการแข่งขันในระดับสากลสร้างมาตรฐานบริษัทประกันชีวิตสู่ความเป็นเลิศทั้งด้านผลิตภัณฑ์และบริการ
รวมถึงต้องเป็นองค์กรที่มีความน่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับ
มีความแข็งแกร่งมั่นคงทางด้านการเงิน
การบริหารงานโปร่งใสเป็นองค์กรที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
ขณะเดียวกัน
ยังต้องส่งเสริมให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันชีวิตกับประชาชนเพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญ
และความจำเป็นในการทำประกันชีวิตให้มากขึ้นพร้อมยกระดับคุณภาพตัวแทนให้มีความเป็นมืออาชีพ
เน้นการสร้างอาชีพตัวแทนประกันชีวิตเพื่อเข้าสู่ภาคธุรกิจให้มากขึ้นอีกทั้งพัฒนาสมาคมสู่การเป็นองค์กรกลางที่มีความเป็นเลิศ
เป็นหน่วยงานหลักที่สร้างความพร้อมให้กับธุรกิจประกันชีวิตและเป็นกลไกในการผลักดันนโยบายต่างๆ
ที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจและเป็นหน่วยงานที่มีความพร้อมในการกำกับดูแลบริษัทประกันชีวิตด้วยกันได้
“สมาคมประกันชีวิตไทยในทุกยุค
ก็มีความร่วมมือกันด้วยดีแม้ในทางธุรกิจแต่ละบริษัทต่างก็ต้องแข่งขันกัน
แต่ในมุมของความร่วมมือสมาคม
ได้ทำหน้าที่ในการเป็นศูนย์กลางระหว่างบริษัทสมาชิกที่ดีมาโดยตลอด
และพร้อมรับความท้าทายอีกครั้งท่ามกลางวิกฤติโควิดที่เกิดขึ้น”
สาระกล่าวว่า
สำหรับในช่วงปี 2563-2564 ภาคธุรกิจยังคงเผชิญกับความท้าทายจากหลากหลายปัจจัย อาทิ
สภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกหลังไวรัสโควิด-19
ระบาดยังคงมีความความเปราะบางรวมถึงภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ลดต่ำลงและมีแนวโน้มที่เกิดจุดต่ำสุดใหม่ได้อีก
(New low-Yield) ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจประกันชีวิตในทุกมิติ
ทำให้ธุรกิจประกันชีวิตต้องเร่งผนึกกำลังสร้างเกาะป้องกัน
และจัดทำแนวทางที่จะบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ขณะเดียวกันยังมีเรื่องมาตรฐานรายงานทางการเงิน
IFRS 17 ที่จะถูกนำมาใช้ในประเทศไทย
ปี 2567 ซึ่งส่งผลให้บริษัทต้องลงทุนเม็ดเงินจำนวนมากทั้งระบบการจัดเก็บข้อมูลการคำนวณทางคณิตศาสตร์ฯ
กระบวนการทำงานและบุคลากรที่ปรึกษาในการจัดทำ IFRS 17
รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและสังคม (Environment Change) ทั้งจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนโครงสร้างประชากร (Aging
Society) และการเข้ามาของเทคโนโลยี 5G และ 6G
โดยปัจจัยต่างๆ
เหล่านี้จะเป็นตัวผลักดันให้รูปแบบการดำเนินชีวิตและพฤติกรรมของคนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
ซึ่งธุรกิจประกันชีวิตจะต้องเตรียมพร้อมและจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายใต้สถานการณ์โลกปัจจุบันด้วย
ปัจจัยหนุนธุรกิจเติบโต
สาระกล่าวว่า
ปัจจัยที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจประกันชีวิต
มีการเติบโตแม้จะต้องเผชิญกับสถานการณแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบด้วย ปัจจัยที่
1การประชาสัมพันธ์ของภาครัฐในช่วงสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาด
ทำให้ประชาชนหันมาตื่นตัวและตระหนักถึงความสำคัญของการมีประกันชีวิตและประกันสุขภาพมาใช้เป็นเครื่องมือบริหารจัดการความเสี่ยงทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
รวมทั้งการผ่อนคลายมาตรการและกฎเกณฑ์ต่างๆ
ของภาครัฐ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกและบรรเทาผลกระทบให้กับบริษัทประกันชีวิต เช่น
การปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมต่างๆ การปรับปรุงร่างประกาศเสนอขายให้เป็น Digital face to face เพื่อลดขั้นตอนและเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับการเสนอขายให้กับตัวแทนประกันชีวิตมากขึ้น
ปัจจัยที่
2 มาจากภาคธุรกิจ ที่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายการบริหารช่องทางการขายและการบริการให้สอดคล้องกับสถาณการณ์ปัจจุบัน
เช่น การพัฒนาช่องทางการขายในรูปแบบ Digital และการบริหารผ่านระบบออนไลน์ในรูปแบบแพลตฟอร์มต่างๆ
อีกทั้งยังมุ่งพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตให้มีความหลากหลาย ให้สามารถตอบสนองความต้องการและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของทุกกลุ่มเป้าหมาย
โดยเฉพาะการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุน
และผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่เน้นการให้ความคุ้มครอง
รวมถึงพัฒนาสัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างทั่วถึง
อย่างไรก็ตาม
แม้ธุรกิจประกันชีวิตจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19
แต่ภาคธุรกิจยังคงมีความแข็งแกร่ง และสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงวิกฤติให้เป็นโอกาสได้
โดยมีสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19เป็นตัวกระตุ้นให้ภาคธุรกิจเปิดรับการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบเทคโนโลยี
แพลตฟอร์มที่ให้บริการและโมเดลธุรกิจแบบใหม่
“การเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19
ช่วยกระตุ้นให้ภาคธุรกิจมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่เน้นการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลายมากขึ้นซึ่งถือเป็นผลกระทบในเชิงบวกกับธุรกิจประกันชีวิตที่ทำให้ภาคธุรกิจมีการพัฒนาตนเอง
และผู้บริโภคได้รับผลิตภัณฑ์และการบริการที่สามารถตอบสนองความต้องการของตนเองได้อย่างแท้จริง“
เปิด 3
นโยบายบริหารงาน
สาระกล่าวว่า
ตั้งแต่ปี 2563-2565
สมาคมประกันชีวิตได้กำหนดนโยบายการบริหารงานในแต่ละด้านไว้ดังนี้
นโยบายที่
1 สนับสนุนให้บริษัทประกันชีวิตมีการนำเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาปรับใช้เพื่อรองรับกับวิถีชีวิตใหม่
(Digitization & New Normal) โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ภาคธุรกิจประกันชีวิตมีการนำเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้
เพื่อให้ระบบงานมีประสิทธิภาพสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ทุกที่ทุกเวลาโดยนำะบบเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาผลิตภัณฑ์
(Product Management System) การพัฒนาแบบประกันสุขภาพรูปแบบใหม่และสัญญาเพิ่มเติมอื่นๆ
ภายใต้ Insurance Technology Sandbox เพื่อรองรับกับวิถีชีวิต
(Lifestyle) ของลูกค้าเฉพาะราย
รวมถึงการพัฒนากรมธรรม์ประกันชีวิตเพื่อผู้สูงอายุ (Annuity) ให้มีความหลากหลายเป็นที่น่าสนใจ
เพื่อให้เหมาะกับความต้องการของกลุ่มลูกค้ามากขึ้น
อีกทั้งยังกระตุ้นให้บริษัทประกันชีวิต
มีการพัฒนากรมธรรม์ประกันชีวิตแบบต่างๆ ที่เน้นเรื่องของความคุ้มครอง (Protection) และการประกันชีวิตควบการลงทุน
(Investment Linked) ให้สอดคล้องกับสภาวการณ์อัตราดอกเบี้ยต่ำในปัจจุบันและตรงกับความต้องการของลูกค้า
รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพช่องทางการจัดจำหน่าย (Multi Distribution
Channel)การสนับสนุนให้บริษัทประกันชีวิตนำระบบเทคโนโลยีมาพัฒนาทุกช่องทางการขายไปสู่
Digital Face to Face โดยการพัฒนาแพลตฟอร์ม
การจัดทำระบบข้อมูลกลาง และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อยกระดับการให้บริการ
ให้สามารถเชื่อมต่อและประมวลผลข้อมูลทั้งหมดได้อย่างรวดเร็ว
ขณะเดียวกันยังส่งเสริมให้มีการพัฒนาช่องทางการขายออนไลน์แบบเต็มรูปแบบ
เพื่ออำนวยความสะดวกในการซื้อ-ขาย-อนุมัติกรมธรรม์ประกันชีวิต
และการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนการนำระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC) มาใช้กับธุรกิจรวมถึงสนับสนุนให้บริษัทประกันชีวิตนำระบบ
e-KYC มาใช้กับการดำเนินงาน
โดยส่งเสริมให้บริษัทเข้าร่วมการทดสอบระบบ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาระบบงานให้มีความเหมาะสมในอนาคต
ทั้งนี้
สมาคมยังได้ร่วมกับบริษัทประกันชีวิตและหน่วยงานกำกับในการกำหนดแนวทางการทดสอบ
รวมทั้งกำหนดระดับความน่าเชื่อถือของอัตลักษณ์ (Identity Assurance Level : IAL) และระดับความน่าเชื่อถือของสิ่งที่ใช้ยืนยันตัวตน
(Authenticator Assurance Levels : AAL) พร้อมสนับสนุนให้มีการพัฒนาระบบการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน
(I-Claim) โดยสมาคมเป็นหน่วยงานกลางระหว่างบริษัทสมาชิกและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเชื่อมโยงข้อมูลด้วยระบบอัตโนมัติ
(Automatic System) เน้นการเชื่อมต่อข้อมูลแบบ Real Time
เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าและลดต้นทุนการดำเนินงานของธุรกิจประกันชีวิต
นโยบายที่
2 การผลักดันให้บริษัทประกันชีวิตมีแนวทางการบริหารงานอย่างยั่งยืน (Sustainability Management)โดยเน้นให้ภาคธุรกิจประกันชีวิตตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาระดับเงินกองทุนและความสามารถในการทำกำไร
เพื่อให้ภาคธุรกิจประกันชีวิตมีการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน
รวมทั้งลดข้อจำกัดของการดำเนินธุรกิจภายใต้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบันโดยเน้นให้บริษัทประกันชีวิตมีการรักษาระดับเงินกองทุนและความสามารถในการทำกำไร
เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน (Capital Adequacy &
ProfitabilitySustainability)
รวมไปถึงการนำเสนอแนวทางต่างๆ
เพื่อทำให้ Capital Adequacy
Ratio : CAR อยู่ในระดับที่เหมาะสม
สร้างความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจ
และเป็นไปตามเกณฑ์การกำกับดูแลการดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยง (RBC) การให้ความสำคัญกับอัตราส่วนความสามารถในการทำกำไร (Profitability
Ratios) ที่สะท้อนถึงความสามารถในการลงทุน การดำเนินงาน
และความแข็งแกร่งของบริษัทประกันชีวิตที่นอกเหนือจากการเติบโตของเบี้ยประกันภัยและส่วนแบ่งการตลาด
อีกทั้งศึกษา ทบทวนและนำเสนอความคิดเห็นในการปรับปรุงหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขต่างๆ (Regulatory
Review)
ขณะเดียวกัน
ได้นำเสนอมาตรการผ่อนคลายการกำกับดูแล เช่น ด้านการลงทุน (Investment) โดยร่วมกับบริษัทประกันชีวิตจัดทำและติดตามการขอแก้ไขประกาศการลงทุนที่รองรับกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน
และจัดทำแนวทางปฏิบัติด้านการตลาด (Market Conduct) ที่ครอบคลุมกระบวนการการทำงาน
การเสนอขาย การอนุมัติผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต
และการจัดสอบ-การอบรมความรู้ให้แก่คนกลางประกันภัย
ให้มีความยืดหยุ่นสอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน
โดยมีการนำเสนอแนวทางต่างๆ
เพื่อขอปรับปรุงกฎหมายที่รองรับการดำเนินงานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างเต็มรูปแบบ
รวมถึงผลักดันให้สำนักงาน คปภ.
เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการออกหลักเกณฑ์สำหรับภาคธุรกิจในการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
(PDPA) และร่วมกับภาคธุรกิจในการดำเนินงานตามมาตรฐานการบัญชี
(IFRS)
นโยบายที่
3 เป็นการพัฒนาการบริหารของสมาคมสู่ความเป็นเลิศในทุกด้าน (Efficiency & Excellent) เพื่อยกระดับการทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้จัดสอบ
และอบรมความรู้ โดยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้กับการดำเนินงาน
รวมทั้งปรับปรุงประสิทธิภาพการประสานงานให้เท่าทันกับการขยายตัวของธุรกิจประกันชีวิต
โดยเน้นการทำหน้าที่ประสานงานเชิงรุก (Proactive Coordinator) การจัดทำข้อเสนอเพื่อขอผ่อนคลายมาตรการต่างๆ
ให้เอื้อต่อการดำเนินงานของธุรกิจ รวมถึงการติดตามและนำเสนอความคืบหน้าที่ได้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานกำกับและหน่วยงานภายนอกให้มีความรวดเร็วเพื่อให้การสนับสนุนการดำเนินงานและการขยายตัวของภาคธุรกิจประกันชีวิตทุกรูปแบบ
เพื่อจัดทำแผนงานการให้ความรู้แก่บุคลากรของสมาคม
นอกจากนี้ยังเสริมประสิทธิภาพการเป็นองค์กรแหล่งการเรียนรู้ด้านการประกันชีวิต
(Learning Organization)จัดทำโครงการการให้ความรู้ด้านการประกันชีวิตร่วมกับภาคีเครือข่าย
(Cluster Learning Network) ในประชาชนทั่วไป
นักเรียน-นักศึกษา คนวัยทำงาน และกลุ่มผู้สูงอายุพัฒนาสื่อความรู้ในรูปแบบ Online
& Offline Media โดยมีเนื้อหาที่เข้าใจง่าย และเข้าถึง
กลุ่มเป้าหมาย
การพัฒนาระบบการจัดสอบและอบรมความรู้ตัวแทนและนายหน้าประกันชีวิต
(Testing and Training System) ไปสู่ระบบออนไลน์
พัฒนาระบบการรายงานสถิติประกันชีวิต (Life Insurance Development Data)จัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อมาพัฒนาระบบการจัดทำรายงานข้อมูล
เพื่อความถูกต้องและรวดเร็วในการประมวลผลข้อมูลโดยสมาคมประกันชีวิตไทยได้ร่วมกับบริษัทประกันชีวิตและสำนักงาน
คปภ.
พัฒนาการรายงานสถิติข้อมูลให้เหมาะสมและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อการพัฒนาธุรกิจประกันชีวิต
บำนาญ…ภารกิจสุดท้าทาย
สาระกล่าวว่า
ปัจจุบันการที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ขณะที่ประชาชนยังมีการออมที่ไม่เพียงพอสำหรับการใช้จ่ายหลังเกษียณ
รวมไปถึงการวางแผนบำนาญที่ยังไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นกับชีวิตหลังเกษียณ
เป็นอีกภารกิจที่ท้าทายสำหรับธุรกิจประกันชีวิต
ซึ่งถือเป็นแหล่งเงินออมระยะยาวที่จะเข้ามาช่วยวางแผนเกษียณให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพในฐานะของสมาคมประกันชีวิตไทย
จึงให้ความสำคัญกับเรื่องของAging
Societyมากขึ้น
ภายใต้แนวคิดในการพัฒนาแบบประกันบำนาญที่ใช่สำหรับลูกค้า
สำหรับแบบประกันที่ใช่
หมายถึงแบบประกันบำนาญที่สามารถตอบสนองไลฟ์สไตล์ของคนได้อย่างหลากหลายรูปแบบที่ไม่ใช่เพียงการออมเงินไว้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายรายเดือนหรือรายปีหลังจากการเกษียณอายุไปแล้ว
แต่ควรจะเป็นแบบประกันบำนาญที่สามารถตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่ต้องการเงินคืนทุกปี
หรือต้องการเงินก้อนหากสามารถเก็บออมได้ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขกรมธรรม์โดยไม่จำเป็นต้องรอจนถึงอายุ55
ปี หรือ 60 ปี ซึ่งถือเป็นอายุเกษียณของคนไทย
ทำให้แบบประกันบำนาญที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ไม่สามารถตอบสนองความต้องการแท้จริงของคนไทยได้
ทั้งนี้
เนื่องจากปัจจุบันการกำหนดอายุเกษียณของแต่ละคนจะแตกต่างไปตามไลฟ์สไตล์ของการใช้ชีวิต
การสร้างรายได้
กลุ่มอาชีพส่งผลให้ในปัจจุบันไม่สามารถที่จะกำหนดอายุเกษียณที่ชัดเจนได้ขึ้นอยู่กับความพร้อมหรือไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน
เช่นบางรายเริ่มทำงานมาตั้งแต่อายุยังน้อยผ่านไป 20 ปี
ก็ต้องการที่จะเกษียณอายุเพื่อต้องการใช้ชีวิตเกษียณอย่างมีความสุข
โดยอาจจะเกษียณที่อายุเพียง 40 ปี หรือ 45 ปีก็ได้
หรือบางรายต้องการทำงานไปเรื่อยๆ แม้จะมีอายุ 70 ปี หรือ 75 ปี ก็ยังไม่ยอมเกษียณ
เป็นต้น
“จากภาวะการเกษียณอายุที่ไม่สามารถกำหนดอายุที่แน่นอนของแต่ละคนได้
ทำให้แบบประกันบำนาญที่มีอยู่ในอดีต
ไม่สามารถที่จะตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้ได้
จึงไม่สามารถจูงใจวางแผนออมเงินเพื่อการเกษียณกับประกันชีวิตมากนัก
เนื่องจากมีช่องทางอื่นๆที่น่าสนใจมากกว่าในการวางแผนเกษียณอายุ เพื่อตอบสนองความต้องการหากต้องการเกษียณอายุเร็วเพื่อใช้เงินที่เก็บออมไว้
หรือเกษียณอายุช้าและต้องการเก็บเงินออมไว้กับประกันชีวิตต่อไป”
สาระกล่าวว่า
แนวคิดในการพัฒนาแบบประกันบำนาญที่ใช่ คือ
เป็นแบบประกันที่มีความยืดหยุ่นสามารถปรับให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้หลากหลาย
ขณะเดียวกัน สมาคมได้หารือกับหน่วยงานกำกับดูแล
เพื่อสร้างแรงกระตุ้นและแรงจูงใจให้ประชาชนสนใจออมผ่านประกันบำนาญ
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการนำเบี้ยประกันไปใช้สิทธิ์ในการลดหย่อนภาษี
การพัฒนาแบบประกันที่สามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของการใช้ชีวิตเพื่อการเกษียณของแต่ละคนอย่างแท้จริงรวมไปถึงการเชื่อมโยงกับเรื่องของสุขภาพที่ครอบคลุม
สาระกล่าวว่า
ปัจจุบันต้องยอมรับว่าคนไทยยังให้ความสำคัญกับเรื่องของการออมเพื่อเกษียณยังไม่มากนักเนื่องจากมองว่าเป็นเรื่องที่ยังไกลตัว
และต้องใช้ระยะเวลานานกว่าจะได้รับเงินบำนาญที่เก็บออมไว้ แต่หลังจากวิกฤติโควิด-19
เกิดขึ้น
ทำให้ประชาชนเริ่มเห็นถึงความสำคัญของการเก็บออมทั้งด้านสุขภาพและการเงินมากขึ้น
เนื่องจากเงินออมที่มีอยู่ไม่เพียงพอที่จะรองรับกับวิกฤติที่เกิดขึ้นได้
สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วคือทุกคนเริ่มตระหนักถึงการวางแผนทางการเงินเพื่อดูแลสุขภาพกันมากขึ้น
หลังจากเดิมคนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยจะให้ความสำคัญกับการทำประกันสุขภาพกันมากนัก
เพราะมองว่าเป็นการจ่ายเบี้ยสูญเปล่าทุกปี
โดยไม่ได้มองว่าเบี้ยที่จ่ายไปปีละไม่กี่พันบาทต่อปี หากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น
จะเปลี่ยนเป็นเงินแสน หรือเงินล้านบาทได้ ซึ่งวิกฤติโควิด-19
ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าหากมีการทำประกันชีวิต ประกันสุขภาพเพื่อดูแลความเสี่ยงแล้ว
เรื่องของประกันสามารถเข้ามาช่วยดูแลและลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ทำประกันได้เป็นอย่างดี
ขณะที่การทำประกันบำนาญยังไม่อยู่ใน Redar ส่วนใหญ่ของคนไทย ดังนั้น ภารกิจหลักจากนี้ไปคือการกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้คนไทยหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องของบำนาญให้มากขึ้น หลังจากที่เริ่มตระหนักรู้แล้ว่าแม้จะมีการวางแผนการออมเพื่อใช้จ่ายสำหรับชีวิตหลังวัยเกษียณแต่ปัจจุบันเงินออมที่วางแผนเอาไว้กลับไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายประจำวันที่เกิดขึ้นจริง
ดังนั้น
จึงต้องเร่งให้ความรู้กับคนไทยเพื่อให้เกิดการตระหนักถึงการทำประกันบำนาญหรือออมเงินเพื่อการเกษียณมีความสำคัญมากสำหรับชีวิตในโลกยุคใหม่ที่มีความไม่แน่นอน
และเศรษฐกิจมีความผันผวนอย่างในปัจจุบันและอนาคต
“จากนี้ไป
สมาคมจะให้ความสำคัญกับการสร้าง Radar สำหรับบำนาญที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญเช่นเดียวกับเรื่องของประกันสุขภาพ
โดยพยายามสร้างการกระตุ้นและแรงจูงใจเพื่อดึงดูดให้ทุกคนก้าวเข้ามาสู่ระบบการออมการวางแผนทางการเงินเพื่อการเกษียณให้มากขึ้น”
Related keywords: Wealth, Invest, Stock / Derivatives